รักสัตว์เอามาเลี้ยงแต่ไม่พร้อมเลี้ยง เสี่ยงคดีโทษหนักคุก 10 ปี

“กฎหมายเกี่ยวข้องสัตว์เลี้ยง” ก็มีบังคับเป็นกรอบปฏิบัติอยู่มากมาย เพื่อความสงบเรียบร้อย ทั้ง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

หากว่า…สัตว์เลี้ยงก่อความเสียหายต่อร่างกาย และทรัพย์สินผู้อื่น ก็มีโทษในคดีแพ่ง และคดีอาญาด้วยซ้ำ ดังนั้น “ผู้เลี้ยงสัตว์” ควรมีความรับผิดชอบต่อตัวสัตว์นั้น และความรับผิดชอบต่อผู้อื่นด้วย

สัตว์เลี้ยงสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นนี้ “คมเพชญ จันปุ่ม” หรือ “ทนายอ๊อด” ประธานเครือข่ายทนายชาวบ้าน บอกว่า ทุกคน มีสิทธิเลี้ยงสัตว์ได้ทุกประเภท แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อน หรือเป็นภัยอันตรายต่อทรัพย์สิน และบุคคลอื่น

เริ่มตั้งแต่ “ใส่ปลอกคอสัตว์เลี้ยง” ที่เป็นเสมือนการแสดงให้เห็นว่า “สัตว์ตัวนั้นมีเจ้าของแล้ว” อีกทั้งถ้า “สัตว์เลี้ยง” หายออกจากบ้าน หรือก่อความเดือดร้อนต่อคนอื่น ก็สามารถติดตามเจ้าของสะดวกง่ายยิ่งขึ้น

กลับกันถ้า…สัตว์เลี้ยงถูกกระทำการละเมิด เรื่องนี้ “เจ้าของ” มีสิทธิเรียกค่าเสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณี “ไม่มีปลอกคอ” ถ้าอาศัยอยู่กับใครในลักษณะดูแลให้อาหารแสดงตัวชัดเจน ก็ย่อมเป็นของคนนั้น

ประเด็น…“สัตว์เลี้ยง” ออกเขตบ้านด้วยวิธีใดก็แล้วแต่แล้ว “วิ่งไล่กัดหรือทำลายทรัพย์ผู้อื่น” ผู้เป็นเจ้าของสัตว์นี้ก็ย่อมต้องมีหน้าที่รับผิดชอบตาม “ความผิด ป.อ.ม.377” กำหนดให้ผู้ปล่อยปละละเลยให้สัตว์ดุ หรือสัตว์ร้ายเที่ยวเตร็ดเตร่ไปตามลำพัง ไม่ควบคุมดูแลให้ดี ที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทำให้ทรัพย์เสียหาย

ต้องโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ส่วนนิยาม “สัตว์เลี้ยงดุร้าย” ตามฎีกาที่ 151/2505 ให้ความหมาย 2 จำพวก คือ “สัตว์ดุ” โดยธรรมชาติที่มิใช่สัตว์ร้ายที่เจ้าของต้องควบคุมดูแลเป็นพิเศษ ส่วน “สัตว์ร้าย ” โดยธรรมชาติของสัตว์ที่มีนิสัยทั้งดุที่เป็นภยันตรายอันน่าสะพรึงกลัวต่อบุคคลผู้ได้พบเห็น เช่น เสือ จระเข้ หรืองูพิษ เป็นต้น

และฎีกาที่ 162/2523 วินิจฉัยว่า “สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง” แต่ก็อาจเป็นสัตว์ที่ดุได้โดยธรรมชาติที่ต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องไป คดีนี้ยุติว่าสุนัขเคยกัดเป็ดของผู้เสียหายมาก่อนหลายครั้ง ในครั้งนี้ก็กัดเป็ดผู้เสียหายตายและบาดเจ็บหลายสิบตัว ถือว่าเป็นสัตว์ดุตามความหมาย ป.อ.ม.377

อีกทั้งยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่งได้อีกด้วย ตาม ป.พ.พ.ม.433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์ หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับไว้แทน จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่เสียหาย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงดีแล้ว…

แต่ว่าความเสียหายนี้ต้องเกิดจากสัตว์นี้โดยตรง เช่น สุนัขหายออกจากบ้านแล้วไปกัดคนอื่น หรือปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติแล้วไปทำความเสียหาย “เจ้าของต้องรับผิด” ที่อาจเกี่ยวกับ ป.พ.พ.ม.446 กรณีมีความเสียหายแก่ร่างกาย อนามัย และเสียเสรีภาพ ก็สามารถเรียกร้องค่าสินไหมได้

นอกจากนี้ยังสามารถเอาผิดเจ้าของสัตว์เลี้ยง กรณีผู้เสียหายเป็นอันตรายสาหัส ตาม ป.อ.ม.300 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หากได้รับอันตรายไม่มากก็มีโทษ ตาม ป.อ.ม.390 ในฐานประมาท ทำให้ผู้อื่น บาดเจ็บทั้งกายและใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท

รักสัตว์เอามาเลี้ยงแต่ไม่พร้อมเลี้ยง เสี่ยงคดีโทษหนักคุก 10 ปี