วิธีเลี้ยง ทารันทูล่า แมลงมุมที่ใครหลาย มองว่าสวย

วิธีเลี้ยงทารันทูล่าให้เป็นสัตว์เลี้ยง สายพันธุ์ดินทั่วไปครับ เช่น Brachypelma, Aphonopelma, GBB, Grammostola และชนิดอื่นๆที่เลี้ยงคล้ายกัน


ข้อดีของทารันทูล่า

1. ให้อาหารเพียงอาทิตย์ละครั้ง  ส่วนน้ำ ก็แค่คอยดูให้มีอยู่ในถ้วยตลอด
2. ไม่มีกลิ่น ไม่มีเสียง
3. ขับถ่ายน้อยมาก เปลี่ยนวัสดุรองพื้นแค่ 1-3 เดือนครั้ง  แทบไม่ต้องเสียเวลาดูแลมากเลย
4. ทน และอึด สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยง บางตัวที่เตรียมลอกคราบ อาจไม่ยอมกินอาหารถึงปีเลยทีเดียว
5. อายุยืน  เพศเมียอาจจะอยู่ได้ถึง 10-30 ปี แล้วแต่สายพันธุ์  ส่วนเพศผู้จะอายุสั้นกว่าประมาณครึ่งนึง
6. มีหลายสายพันธุ์ที่นิสัยเรียบร้อย ต้องให้จวนตัวจริงๆถึงจะกัดคน บางพันธุ์พิษก็อ่อนมาก โดนกัดอาจจะแค่คันเบาๆไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เว้นแต่จะโชคร้ายเป็นคนที่แพ้พิษมัน
แต่สายพันธุ์ดุ และพิษแรง ก็มีมากมายเช่นกัน จึงควรหาข้อมูลก่อนจะเลี้ยง

ข้อด้อย:
1. เป็นสัตว์เลี้ยงที่วันๆไม่ค่อยขยับตัวให้ดูซักเท่าไหร่ ยกเว้นบางสายพันธุ์
2. ต้องให้อาหารเป็นสิ่งมีชีวิตเช่นพวกหนอนนก จิ้งหรีด 

วิธีเลี้ยงทารันทูล่าที่ยังไม่โต (Sling)

Sling ย่อมาจาก คำว่า Spiderling ที่แปลว่าลูกแมงมุม ไซส์ที่เรียกว่า sling คือไม่เกิน 1.5 นิ้ว บางคนก็ใช้เกณฑ์กำหนดไซส์ของ Sling จากจำนวนครั้งของการลอกคราบ ไม่เกิน 4คราบ
ตัวใหญ่กว่านี้เรียกว่าไซส์ juvenile ซึ่งจะเริ่มมีสีคล้ายกับตอนโตเต็มวัย  จากนั้นก็จะเข้าสู่วัย sub adult ซึ่งคือเกือบโตเต็มที่แล้ว
และสุดท้ายคือขนาดที่โตเต็มที่

สถานที่เลี้ยง:

– ลูกแมงมุมที่เล็กมากๆใช้ภาชนะเลี้ยงเป็น กระปุกพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (แบบที่ใส่พวกน้ำสลัด น้ำจิ้มต่างๆ) หรือกระปุกใส่ยา ที่ฝรั่งเรียกว่า pill vial ลองเซิร์จหารูปดู
ความกว้างของภาชนะ เอาแค่กว้างกว่าตัวและขาแมงมุม 2-3 เท่าพอ ถ้ากว้างเกินไป ลูกแมงมุมจะเดินหาเหยื่อไม่เจอ ส่วนลูกแมงมุมที่โตกว่า 1.5 นิ้ว สามารถเลี้ยงในกล่องพลาสติกใสสวยๆแทนพวกกระปุกได้ แต่ก็ควรใหญ่กว่าแมงมุมแค่ 2-4 เท่า
– เลี้ยงแค่หนึ่งตัวต่อหนึ่งภาชนะ
– เจาะรูระบายอากาศให้เล็กพอที่แมงมุมจะมุดหนีไม่ได้ รูควรเล็กกว่าลำตัวมัน(ส่วนที่มีขางอกออกมา) ถ้ารูใหญ่กว่า “ลำตัว” ทารันทูล่าจะพยายามมุดหนี แล้วส่วนก้นป่องๆของมันก็จะติดรู เพราะส่วนนั้นใหญ่กว่าลำตัว ทำให้แมงมุมตายคารูได้

– เวลากลางวัน เก็บภาชนะเลี้ยงไว้ในตำแหน่งที่เย็นที่สุดของบ้านที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศา ถ้าได้ซัก 27-28 องศายิ่งดี เพราะแมงมุมต้องอยู่ในกระปุกเล็กๆที่อบอ้าวและมีรูระบายอากาศนิดเดียวตลอดเวลา จึงต้องช่วยให้แมงมุมรู้สึกสบายที่สุด
พอกลางคืนอากาศเย็นขึ้น หรือเข้าฤดูที่อากาศเย็นสบาย ค่อยเอามาวางไว้ดูเล่นใกล้ตัวได้
ควรระวังเรื่องมดด้วย

– ใส่วัสดุรองพื้นเป็นขุยมะพร้าวหรือพีทมอส ปูพื้นภาชนะให้หนาพอที่ลูกแมงมุมจะสามารถขุดเป็นรูซ่อนตัว และวัสดุรองพื้นยังช่วยเป็นเบาะนุ่มๆกันกระแทกเวลาแมงมุมปีนแล้วตกลงมาด้วย

ควรใส่วัสดุรองพื้นหนาอย่างน้อยประมาณ 3 ใน 10 ของความสูงของภาชนะเลี้ยง ถ้าใส่บางไปจะแทบไม่มีประโยชน์เลย
วัสดุรองพื้นที่เป็นขุยมะพร้าว กับ พีทมอส หาได้ง่ายๆจากร้านขายต้นไม้ดอกไม้ ซื้อครั้งเดียวใช้ได้เป็นชาติ เพราะนานๆถึงจะได้เปลี่ยนวัสดุรองพื้นที  ร้านขายอาหารสัตว์บางร้านก็มีขาย
อย่าใช้ทรายหรือหิน หรืออะไรทื่แข็งๆเป็นวัสดุรองพื้น

เปลี่ยนวัสดุรองพื้นทุก 1-3 เดือน หรือเมื่อเห็นว่ามันเลอะมากแล้ว

-ลูกแมงมุมบางตัวที่ไม่มุดดิน อาจต้องการถ้ำเพื่อใช้เป็นบ้าน วิธีส่วนตัวของผมคือเอากระดาษแข็ง หรือนามบัตร มาตัดให้พอดี แล้วหักสองด้านจนคล้ายรูปตัว U (แต่ก้นไม่ต้องโค้ง) แล้วเอาไปวางคว่ำในภาชนะให้ปลายกระดาษฝังลงไปในดินพอสมควรเพื่อไม่ให้มันล้มง่าย แค่นี้ก็ได้ถ้ำแล้ว

อาหาร:

หนอนนกขนาดเล็ก ลูกจิ้งหรีดที่ตัวเล็กเท่าหัวเข็ม ขาจิ้งหรีด ลูกแมลงสาบDubia แมลงหวี่ไร้ปีก(เห็นเฟซบุ๊คร้าน Beetle Hub มีขาย)
เนื่องจากเป็นลูกแมงมุม เลยสามารถให้อาหารบ่อยประมาณทุก 2-3 วันได้ เพราะตามธรรมชาติ ลูกแมงมุมต้องรีบโตให้เร็วที่สุดก่อนจะถูกนักล่าจับกิน พอมันโตแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นอาทิตย์ละครั้ง

หนอนนกมีสองสายพันธุ์คือแบบขนาดปรกติ สีเหลืองครีม กับหนอนนกพันธุ์จิ๋ว สีเข้มออกเหลืองผสมดำ
หนอนนกอย่างหลัง จะหาได้จากคนขายแมงมุมบางเจ้า ซึ่งเค้าจะแถมมาให้กับแมงมุมที่ซื้อ หนอนพวกนี้เพาะง่ายมาก ขนาดผมแทบไม่ดูแลยังออกลูกมายั๊วเยี้ยกว่าพันธุ์ปรกติอีก

หนอนนกชนิดปรกติส่วนมากหาได้จากร้านขายปลาเลี้ยง หรือร้านขายอุปกรณ์ตกปลา เก็บรักษาง่ายพอๆกับอาหารเม็ด (ถ้าไม่คิดจะเพาะพันธุ์มัน)

เวลาให้อาหาร ควรใช้ปากคีบบีบหัวหนอนนกให้อยู่ในสภาพปางตายก่อน เพื่อไม่ให้มันมุดดินหนี ที่ต้องทำแบบนี้เพราะหนอนที่หนีไปใต้ดิน จะขึ้นมากัดกินทารันทูล่าตอนกำลังลอกคราบ เพราะตอนนั้นทารันทูล่าจะขยับตัวไม่ได้

ถ้ามีแต่หนอนนกที่ขนาดใหญ่กว่าลูกแมงมุม ให้เอากรรไกรตัดหนอนเป็นชิ้นเล็กๆ เพราะลูกแมงมุมบางตัวอาจจะไม่กล้ากินอาหารที่ใหญ่กว่าตัวมัน น้ำเยิ้มๆจากตัวหนอนที่ถูกตัด จะช่วยให้แมงมุมรับอาหารง่ายขึ้น
สำหรับลูกแมงมุมบางตัวที่กินยาก เราอาจต้องหย่อนอาหารข้างหน้ามันเลย

วิธีเก็บหนอนนก(แบบไม่ใส่ใจมาก):

ใส่ในกล่องเล็กๆอะไรก็ได้ เจาะรูระบายอากาศพอสมควรที่ฝาหรือด้านข้าง
ให้อาหารเป็นอาหารปลาเม็ด หรืออาหารไก่ ทุก 5 วัน และฉีดน้ำบางๆให้มันดื่มด้วย  ผมเลี้ยงแบบนี้อัตราการตายอยู่แค่ 5% ต่ออาทิตย์ครับ แต่หนอนจะดูไม่อวบอ้วนเหมือนตอนซื้อจากร้านเท่าไหร่ (ถ้าเพิ่มความถี่เป็นทุก 2-3 วัน อาจได้ผลลัพธ์ดีกว่านี้)
วิธีนี้ ผมซื้อหนอนมา 5 บาท อยู่ได้เดือนนึงเลย

ข้อดีคือ ไม่เสี่ยงมีกลิ่นเหม็นเน่า เหมือนเวลาให้ผักเป็นอาหารแล้วโชคร้ายผักเกิดเน่า หนอนที่เลี้ยงด้วยอาหารปลาเม็ดกลิ่นจะคงที่ตลอด ไม่ว่าหนอนจะตายไปกี่ตัว เพราะยังไงก็จะมีแค่กลิ่นอาหารปลาอยู่ในกล่องเลี้ยงอย่างเดียว

อย่าเก็บหนอนไว้ใกล้ทารันทูล่า เพราะถ้าเกิดมีมดขึ้นที่กล่องหนอน ทารันทูล่าจะพลอยซวยไปด้วย

วิธีเก็บหนอนนกที่ง่ายสุดคือเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา เพราะมันจะอยู่ในสภาพจำศีล เราไม่ต้องให้อาหารหรือน้ำเลย

ส่วนวิธีการเก็บหนอกนกแบบอุดมสมบูรณ์จนมันออกลูกออกหลาน ให้ไปค้นหาใน google ละกันครับ

น้ำ:
ใช้กระบอกฉีดน้ำแบบที่ใช้รีดผ้า ฉีดใส่ผนังของภาชนะเลี้ยง อย่าให้เปียกโชกมาก ให้เห็นหยดใหญ่ๆซักหยดสองหยดพอ
ลูกแมงมุมจะไต่ผนังมาดื่มน้ำเอง
ควรให้น้ำทุก 3 วัน  หรืออย่างน้อยก็อาทิตย์ละครั้ง  ลูกแมงมุมขาดน้ำไม่ได้นานเท่าตอนโต
ใช้น้ำที่คนดื่ม ห้ามใช้น้ำปะปา

จะใช้ฝาขวด หรือสิ่งของอะไรที่เป็นทรงถ้วยขนาดเท่าฝาขวด เป็นภาชนะใส่น้ำก็ได้
แต่ถ้ามีถ้วยใส่น้ำแล้ว ก็ไม่ต้องฉีดน้ำใส่ผนังภาชนะ ไม่งั้นจะชื้นไป

พฤติกรรม:
ลูกแมงมุมมักจะขุดรูอยู่ใต้ดินมากกว่าตัวที่โตแล้ว แต่บางสายพันธุ์ก็อยู่บนดินตลอด
ส่วนมากชอบอยู่เฉยๆที่จุดใดจุดหนึ่งของภาชนะเลี้ยง บางชนิดก็ชอบเดินเล่น
ถ้าอยากได้ชนิดที่ขยับตัวบ่อยๆให้เราดูและอยู่บนดิน ให้เลือก B. albopilosum(curly hair),  B. verdezi, G. pulchripes (Chaco golden knee),  G. pulchra (Brazilian Black), GBB(ขี้ตกใจ เร็ว แต่ไม่ดุ), Euathlus sp Red, Tiger rump, Aphonopelma chalcodes โรซีบางตัวก็ชอบเดิน
ลูกแมงมุมบางชนิดจะกางใยที่พื้นและขอบภาชนะ โดยเฉพาะ GBB ที่ชอบสร้างเขตของมันแบบอลังการ

การลอกคราบ:
แมงมุมจะลอกคราบเพื่อให้มันโตขึ้น
ลูกแมงมุมจะลอกคราบบ่อยกว่าแมงมุมโต ประมาณ 2-3 อาทิตย์ครั้ง หรือเดือนละครั้ง จากนั้นจะถี่น้อยลง ประมาณปีละครั้ง หรือยาวไปถึง 5 ปีครั้งเมื่อโตเต็มที่
ก่อนจะลอกคราบ แมงมุมจะหยุดกินอาหารที่เราให้เป็นเวลาหลายวัน และขยับตัวน้อยลง ท่าเดินดูติดๆขัดๆ
เมื่อถึงเวลาลอกคราบ แมงมุมจะนอนหงายแผ่ขาออกกว้าง  มือใหม่บางคนอาจนึกว่ามันตายแล้ว แต่ที่จริงคือท่าลอกคราบของมัน
พิธีกรรมลอกคราบของแมงมุมจะใช้เวลาไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมง แมงมุมยิ่งโตยิ่งลอกคราบช้า ถ้าไม่อยากกังวลเปล่าๆปลี้ๆก็ควรปล่อยให้แมงมุมทำธุระของมันไป แล้วค่อยกลับมาดูวันต่อมาจะดีกว่า

ห้ามยุ่งกับแมงมุมตอนลอกคราบ ไม่งั้นมันอาจลอกคราบไม่สำเร็จและตาย แต่ก็มีข้อยกเว้น คือในกรณีที่แมงมุมทำท่าจะลอกคราบไม่ผ่าน เราสามารถฉีดละอองน้ำใส่ตู้เลี้ยง เพื่อช่วยแมงมุมลอกคราบได้

หลังลอกคราบ ควรรอให้ถึง 1 อาทิตย์ แล้วค่อยให้อาหาร เพราะช่วงนั้นร่างกายของแมงมุมยังอ่อนตัวอยู่

การตายและบาดเจ็บ:

– แมงมุมที่ตายจะขยุ้มตัวจนหดเล็กลง (คล้ายกับเวลาเรากำมือ ซึ่งขาของแมงมุมก็จะขดตัวเหมือนนิ้วเรา) ถ้ามันนอนหงายแผ่อ้าซ่าคือกำลังลอกคราบ
แต่บางตัวก็ตายแบบแผ่ๆเหมือนกัน
– แมงมุมที่ขาขาดจะงอกใหม่ได้เมื่อลอกคราบ

สรุป: อุปกรณ์ที่ต้องมี

– ภาชนะเลี้ยงมีรูระบายอากาศ ใส่วัสดุรองพื้นข้างใน
– ปากคีบ ฟอร์เซป  ใช้คีบอาหาร  และใช้หยิบเศษอาหารหรือคราบแมงมุมที่อยู่ในภาชนะเลี้ยงออกมา
– พู่กัน เอาไว้เขี่ยก้นแมงมุมให้เดินไปในทิศทางที่ต้องการ อย่าเขี่ยจากด้านหน้าเพราะมันจะนึกว่าเป็นเหยื่อและงับ และอย่าเขี่ยแกล้งแมงมุมเล่น
– กระบอกฉีดน้ำ แบบที่ใช้รีดผ้า  เอาไว้ฉีดน้ำใส่ผนังภาชนะเลี้ยงให้แมงมุมดื่มกิน (ถ้ามีถ้วยน้ำอยู่แล้วก็ไม่ต้องมีกระบอกก็ได้)

วิธีเลี้ยงทารันทูล่าที่โตเต็มวัย
1. ตู้เลี้ยงควรใหญ่ประมาณ 2-4 เท่า ของขนาดทารันทูล่า (วัดขากับตัวรวมกัน ถ้าแมงมุมขนาด 6 นิ้ว ก็ใส่ตู้ซัก 12-22 นิ้ว )
มีรูระบายอากาศเยอะๆ แต่อย่าให้รูระบายอากาศใหญ่กว่าลำตัว(ส่วนที่มีขางอกออกมา)
วัสดุรองพื้นคือพีสมอส  ขุยมะพร้าว ใส่ประมาณ 2-3 นิ้ว  ถ้าแมงมุมทำท่าจะทำอุโมงค์ ก็ปูพื้นให้หนาขึ้นอีก มันจะได้มีวัสดุทำอุโมงค์

2. ให้อาหารอาทิตย์ละครั้ง เป็นหนอนนก จิ้งหรีด แมงสาบ Dubia
ใส่หนอนนก หรือเหยื่อชนิดอื่นลงไปเรื่อยๆจนกว่าแมงมุมจะหยุดกิน แล้วจำจำนวนเหยื่อที่ถูกกินไว้  คราวหน้าจะได้ให้ประมาณนั้น (ถ้าเป็นหนอนนกควรใช้ปากคีบบี้หัวให้เกือบตายด้วย เพื่อป้องกันมันมุดดิน แล้วกลับขึ้นมากินทารันทูล่าตอนลอกคราบ)
ส่วนการให้น้ำ ก็เอาน้ำใส่ถ้วยเล็กๆวางไว้ในตู้เลี้ยง ไม่ต้องให้น้ำด้วยการฉีดน้ำที่ผนังแล้ว

3. ทารันทูล่าที่โตแล้ว ส่วนมากทนอากาศร้อนในไทยได้ดี  แต่กลางวันควรเอาภาชนะเลี้ยงวางไว้มุมเย็นๆของบ้านดีกว่า และต้องคอยดูมดด้วย

ขนาดของทารันทูล่า:
เป็นขนาดตัวเมียโตเต็มที่ และวัดขนาดของตัวรวมกับขาครับ
สายพันธุ์แคระ   1-3.5 นิ้ว เช่น Euathlus sp. Red/Yellow, Cyriocosmusต่างๆ, A. minatrix, Tiger rump
สายพันธุ์ขนาดกลาง 4-5 นิ้ว  เช่น A. bicoloratum, A. avicularia, A. hentzi, B. emilia
สายพันธุ์ขนาดทั่วไป 5-6.5 นิ้ว เช่น Brachypelmaต่างๆ, A. chalcodes, GBB, C. versicolor
สายพันธุ์ขนาดใหญ่ 7 นิ้วขึ้นไป เช่น โกลเด้นนี, G. pulchra, Megaphobema robustum

Tips: หมวดการเลี้ยง

– แม้ว่าทารันทูล่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ทนทานมาก แต่ลูกแมงมุม ที่ขนาด 1-2 เซนฯ อาจจะตายได้ง่ายเหมือนกัน แม้ว่าจะเลี้ยงถูกวิธีแล้วก็ตาม เพราะบางตัวอาจจะอ่อนแอตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว
ดังนั้น ถ้าอยากลดความเสี่ยง ก็ให้เลี้ยงทารันทูล่าขนาด 1.5-2 นิ้ว ขึ้นไป แต่ราคาจะสูงกว่า

– หลังจากรับแมงมุมเข้าบ้านและใส่ในภาชนะเลี้ยงแล้ว ควรอย่ายุ่งกับมันซัก 4-7 วัน เพื่อให้มันปรับตัว แต่สามารถให้น้ำได้ตามปรกติ

– วิธีเปลี่ยนวัสดุรองพื้น หรือ วิธีนำทารันทูล่ามาใส่ตู้ใหม่ ให้ดูใน Youtube พิมพ์ว่า tarantula rehousing

– วิธีเอาทารันทูล่าขึ้นมือ ให้ดูจาก Youtube พิมพ์ว่า tarantula handling แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็ปล่อยให้มันอยู่ในตู้เลี้ยงตลอดจะดีกว่า แม้ว่าจะเป็นพันธุ์ที่นิสัยเรียบร้อยแค่ไหนก็ตาม จะได้ปลอดภัยทั้งคนและแมงมุม
– เวลาเอาแมงมุมขึ้นมือ หรือเปลี่ยนภาชนะเลี้ยง ควรทำบนพื้น เพราะถ้าทำบนโต๊ะหรือที่สูงแมงมุมอาจจะตกลงมาได้รับบาดเจ็บได้

– อย่ายื่นหน้าไปใกล้ก้นแมงมุม อาจถูกมันเตะขนคันใส่หน้าหรือตาได้  เคยมีคนโดนเตะขนใส่จนตาอักเสบเป็นเดือนเลย

– ใช้ฟอร์เซป(ปากคีบขนาดยาว) หรือพู่กัน แทนการยื่นมือไปทำอะไรในตู้แมงมุม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุถูกทารันทูล่างับเพราะคิดว่าเป็นเหยื่อ

– อย่าป้อนอาหารด้วยปากคีบ แม้ว่าทารันทูล่าบางตัวจะนิสัยเป็นมิตรจนสามารถป้อนอาหารด้วยปากคีบ แต่มันอาจไปงับปากคีบแข็งๆ จนเขี้ยวหักได้

– กล่องสำหรับทารันทูล่าไซส์ 1-2.5 นิ้ว ผมใช้กล่องยี่ห้อ Boxbox ที่มีขายในห้างพวกเซนทรัลกับ B2S ทุกสาขา จากแผนกที่ขายพวกกล่องพลาสติกและกระบอกน้ำดื่ม
กล่องยี่ห้อนี้ใสดี และราคาถูก
เจาะรูระบายอากาศด้วยหัวแร้งบัดกรี(ราคาไม่ถึงสองร้อย) ใช้งานง่ายมาก คิดซะว่าเป็นธูปไฟฟ้าเสียบปลั๊ก
ขนาดผมเกิดมาไม่เคยใช้พวกเครื่องมือช่าง ยังแทบไม่ต้องเรียนรู้วิธีใช้เลย  เริ่มจากเสียบปลั๊กแล้วรอให้ส่วนหัวแหลมๆของบัดกรีร้อน(เอาไปจิ้มกับกระดาษก่อนเพื่อทดสอบความร้อน) จากนั้นก็เอาไปเจาะรูกล่องได้แล้ว

Tips: หมวดพฤติกรรม

– เวลากลางคืน ทารันทูล่าจะตื่นตัวมากที่สุด จึงควรให้อาหารเวลานั้น

– ทารันทูล่าที่ไม่ยอมกินอาหารเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน คือเรื่องปรกติ โดยเฉพาะพวกสายพันธุ์โรซีซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนักอดอาหาร ให้สังเกตดูว่าส่วนก้นมันผอมแฟบหรือไม่ ถ้าก้นยังป่องดีก็ถือว่าไม่มีอะไรต้องห่วง

– ทารันทูล่าบางตัวอาจจะไม่กินเหยื่อทันทีที่เราหย่อนลงไปในตู้มัน ให้ปล่อยไว้คืนนึงแล้วมาดูตอนเช้าว่าเหยื่อหายไปมั้ย ถ้าอาหารยังเหลืออยู่ค่อยคีบออกไปทิ้งตอนนั้น

– ทารันทูล่าตัวผู้ พอโตแล้วจะผอม และดูเก้งก้างกว่าตัวเมีย ช่วงคราบท้ายๆมันจะกินน้อยลงมาก และจะขยันเดินอยู่ในตู้เลี้ยง เพราะในธรรมชาติ เมื่อทารันทูล่าตัวผู้โตเต็มที่ มันจะต้องร่อนเร่เดินตามหาตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ จึงไม่ค่อยมีความอยากอาหารเท่าไหร่

– ทารันทูล่าหลายชนิดที่อยู่นิ่งทั้งวัน พอถึงกลางคืน พวกมันจะขยับตัวทำกิจกรรมต่างๆในตู้ หลังจากเราปิดไฟในห้องจนมืด
ถ้าอยากเห็นกิจกรรมเหล่านี้ ให้ใช้โคมไฟหรือหลอดไฟที่ส่องไฟสีแดง แทนหลอดไฟปรกติ เพราะทารันทูล่าไม่สามารถมองเห็นแสงสีแดงได้ มันจึงนึกว่าในห้องยังมืดอยู่ เมื่อเราเปิดไฟสีนี้

– ถ้าอยากเลี้ยงทารันทูล่า แต่เป็นห่วงเรื่องพิษ ให้เลี้ยงพวกที่มีพิษอ่อนอย่างตระกูล Avicularia และ Caribena versicolor หรือพันธุ์แคระทั่วไป  กับสายพันธุ์แคระที่ปลอดภัยระดับสุดยอดอย่าง Euathlus sp. red แต่ตัวหลังสุดแทบหาซื้อไม่ได้เลย

วิธีเลี้ยง ทารันทูล่า แมลงมุมที่ใครหลาย มองว่าสวย